เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๘

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 2 มกราคม 2025.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๘


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ มีหลายเรื่องที่อยากจะกล่าวถึง เรื่องแรกเลยก็คือที่หลวงพ่อรูปหนึ่ง ไม่พอใจว่าพระลูกวัดไปรับสังฆทานแทน ก็เลยเตะสังฆทานของญาติโยมกระจุยกระจายไป ปรากฏว่าผลของการกระทำสนองแบบสายฟ้าแล่บ ก็คือหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดสั่งปลดออกจากทุกตำแหน่งที่มีอยู่ไปเลย..!

    ตรงนี้ขอชื่นชมว่าหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดจัดการได้เด็ดขาดและรวดเร็วมาก โดยเฉพาะท่านลงไปสอบสวนด้วยตัวเอง และตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ทำให้บุคคลผู้กระทำในสิ่งที่เสียหายต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา เมื่อโดนลงโทษอย่างหนักแบบนั้น จึงทำให้กระแสสังคมสงบลงได้อย่างฉับพลันทันที

    ถ้าผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นมีการกระทำที่เด็ดขาดและเข้มงวดแบบนี้ ผู้ที่แหกคอกทำให้คณะสงฆ์ของเราเสียหายก็จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เนื่องเพราะว่ากว่าจะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาส กว่าจะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งเจ้าคณะตำบลนั้นต้องใช้เวลานานมาก

    บางท่านไม่สบโอกาส อย่างหลวงปู่เจ้าคุณไพเราะ - พระวชิรสิกขการ, ดร. (ไพเราะ ฐิตสีโล ป.ธ. ๔) ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เพื่อนร่วมรุ่นพระอุปัชฌาย์ ๕๑ กว่าท่านจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์ก็อายุ ๗๘ ปีเข้าไปแล้ว ท่านยังบ่นกับพวกกระผม/อาตมาภาพว่า ท่านสร้างบุญมาน้อย กว่าที่จะได้รับตำแหน่ง ก็ล่วงมาจนเกือบจะเกษียณอายุของพระคือ ๘๐ ปี..!

    เรื่องต่อไปก็คือวันนี้มีญาติโยมท่านหนึ่งขอคำปรึกษาว่า ตนเองเจ็บไข้ได้ป่วย ผ่าตัดมาหลายรอบแล้วก็ยังไม่หาย ควรที่จะทำอย่างไรดี ? กระผม/อาตมาภาพได้ฟังแล้วก็อยากจะถอนหายใจ

    เนื่องเพราะว่า
    ถ้าเรากำลังใจไม่เพียงพอ แต่ไปถามบุคคลที่กำลังใจสูงกว่า เขาให้คำแนะนำมา เราก็ไม่สามารถที่จะทำได้อยู่แล้ว จึงได้บอกไปว่า "หลวงพ่อป่วยหนักมา ๔๐ กว่าปีแล้ว ใช้วิธีทนเอา ยอมรับกฎของกรรมว่า เราเคยเกเรเอาไว้ในอดีต ปัจจุบันนี้เราก็ต้องยอมรับ แต่ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ จะไม่ขอมีอีกแล้ว"

    แต่ทำให้ท่านนั้นอยู่ในลักษณะที่ว่า
    คำขอปรึกษาที่ได้ให้ไปนั้นไม่ถูกต้องกับกำลังใจ เนื่องเพราะว่ากำลังใจต่างกันมากจนเกินไป แต่ถ้าหากว่าไปปรึกษาบุคคลที่กำลังใจต่ำกว่า อาจจะมีการแนะนำให้ไปสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ต่อลายมือ และอาจจะเสียค่าดำเนินการแพง ๆ แล้วยังเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เหมือนเดิม..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    เนื่องเพราะว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเกิดจากเศษกรรมปาณาติบาต ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าคนหรือว่าฆ่าสัตว์ในอดีตชาติ ตามมาสนองในปัจจุบันนี้ ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นแค่เศษกรรมเท่านั้น เนื่องเพราะว่าเราชดใช้กรรมหลักมาแล้วในอบายภูมิ ตราบใดที่เรายังมีการสังขารอยู่ เศษกรรมเหล่านี้ก็จะตามเบียดเบียนไปเรื่อย

    ดังนั้น..บุคคลที่เคยทำปาณาติบาตเอาไว้มาก ก็อายุสั้นพลันตาย บางคนยังไม่ทันออกจากท้องแม่ก็ตายไปแล้ว

    บุคคลที่ทำปาณาติบาตไว้ปานกลาง ก็เจ็บไข้ได้ป่วยหนัก ๆ เข้าโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ผ่าตัดเหมือนกับเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ แต่ว่าจะเปลี่ยนเครื่องเคราขนาดไหนก็ตาม การเจ็บป่วยอื่น ๆ ก็ยังปรากฏมาอยู่เสมอ

    บุคคลที่สร้างปาณาติบาตเอาไว้น้อย ก็เจ็บโน่นป่วยนี่เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเรื่อย เป็นเรื่องที่เราทำเราก็ต้องรับ ไปปรึกษาผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ยกเว้นบุคคลที่กำลังใจใกล้เคียงกัน


    ดังนั้น..ท่านที่คิดจะมาปรึกษากระผม/อาตมาภาพ ส่วนใหญ่พอเห็นว่าหลวงพ่อป่วยหนักมา ๔๐ กว่าปีก็คงจะหมดอารมณ์ไปเลย เพราะว่าตนเองยังไม่ได้ป่วยมานานขนาดนั้น

    อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงก็คือวันนี้กระผม/อาตมาภาพไปเป็นประธานในการฌาปนกิจศพนายพนา หวลประไพ ซึ่งเป็นลูกของคุณยายล้วน หวลประไพ ได้เสียชีวิตลงด้วยอายุ ๖๕ ปี ในเรื่องนี้ไม่ขอกล่าวถึง แต่ที่จะกล่าวถึงก็คือพระผู้แสดงพระธรรมเทศนาหน้าศพนั้น ด้วยความที่ว่าเป็นพระใหม่ ขาดการฝึกฝน จึงมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ขาด ๆ เกิน ๆ อยู่บ้าง

    ในเรื่องของการเป็นนักเทศน์นั้น เราจะเป็น "ศิษย์มีครู" หรือว่าศิษย์ไม่มีครู แค่มองตอนเดินเข้ามาในสถานที่ คนซึ่งมีประสบการณ์ก็จะรู้แล้ว บรรดา "ศิษย์มีครู" ที่ได้รับการอบรมมา อันดับแรกเลย ถ้าถือย่ามก็จะรวบหูย่าม ประการที่สอง ถ้าหากว่าถือคัมภีร์เทศน์และตาลปัตร ก็ยกคัมภีร์เทศน์และตาลปัตรอยู่ในลักษณะกึ่ง ๆ แบกมา เมื่อเข้าไปถึงจัดวางสิ่งของ คัมภีร์เทศน์จะอยู่ทางด้านขวาพร้อมกับย่าม แต่ว่าตาลปัตรจะอยู่ทางด้านซ้าย
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    การขึ้นสู่ธรรมาสน์นั้น เราจะขึ้นก็ต่อเมื่อทางเจ้าภาพหรือบุคคลที่เจ้าภาพเชิญให้จุดเทียนส่องธรรมแล้วเท่านั้น การจุดเทียนส่องธรรมในอดีต เพราะต้องการอาศัยแสงสว่างในการอ่านคัมภีร์เทศน์จริง ๆ ในปัจจุบันนี้จุดเป็นธรรมเนียมเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณนิมนต์พระธรรมกถึกขึ้นสู่ธรรมาสน์

    การขึ้นธรรมาสน์นั้นมีกฎเกณฑ์กติกาว่า เราจะไม่หมุนตัวโดยหันเท้าไปทางพระประธาน ก็แปลว่าเราจะหมุนในมุมที่หันเท้าไปคนละด้านกับพระประธานเสมอ ยกเว้นว่าสถานที่นั้นตั้งพระประธานไว้ด้านหลังธรรมาสน์ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องขึ้นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย


    ก็คือคุกเข่าข้างหนึ่งลงบนธรรมาสน์ แล้วค่อยคุกเข่าอีกข้างตามไป เมื่อหมุนตัวเข้าที่แล้ว หยิบจับผ้าจีวรหรือสังฆาฏิให้เข้าที่เรียบร้อยแล้ว เราก็จะนั่งอยู่ในลักษณะสงบเสงี่ยม เรียบร้อย ทอดสายตาลงต่ำ

    เมื่อพิธีกรทำการอาราธนาศีลจนจบ ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ เราก็ตั้งตาลปัตรเตรียมให้ศีล

    ครั้นเมื่อให้ศีลจบเรียบร้อยแล้ว วางตาลปัตรกลับไปที่เดิม เมื่อพิธีกรอาราธนาธรรม พรัหมาจะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ กะตัญชะลี เราเองก็หันไปพนมมือไหว้คัมภีร์เทศน์ แล้วหยิบมาอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อม

    เมื่อถึงเวลาแล้วเราก็ขึ้นนะโมฯ เทศน์ พอจบนะโมฯ รอบที่ ๒ ก็ทำการเปิดคัมภีร์เทศน์ขึ้น ครั้นจะอ่านคัมภีร์เทศน์ตามเนื้อหา เราใช้วิธีถือคัมภีร์เทศน์ตรงอยู่ด้านหน้า แต่ใช้วิธีกวาดสายตาไปซ้ายขวาแทน แปลว่าคัมภีร์เทศน์จะนิ่งอยู่กับที่เสมอ
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    การตั้งนะโมฯ ๕ ชั้น เพื่อที่จะขึ้นอุเทศนั้น เราก็ตั้งนะโมฯ โดยซักซ้อมมาก่อน แต่ว่าคำสุดท้ายของนะโมจะต่อกับคำแรก อย่างเช่นว่า นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะนะโมตัสสะฯ อยู่ในลักษณะเหมือนกับ ธัสสะนะโม ต่อกันไปเลย

    เมื่อถึงเวลาขึ้นอุเทศบาลีเราก็ต้องดู ถ้าหากว่าคำท้ายไม่มีติ เราก็ลงติ ก็คืออยู่ในลักษณะของการลากเสียงเล็กน้อย แต่ถ้าคำท้ายลงติอยู่แล้ว เราก็ต้องทีฆะติเป็นตีติ

    เมื่อตั้งอุเทศแล้วก็ค่อยเข้าสาธยายนิเทศ แล้วก็จบด้วยปฏินิเทศ คำว่าอุเทศก็คือหัวข้อในการเทศน์ที่ตั้งเป็นภาษาบาลี นิเทศก็คืออธิบายขยายความให้แจ่มแจ้ง สามารถจูงใจให้บุคคลสนใจที่ประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งเกิดความกล้าหาญ สามารถมอบกายถวายชีวิตเพื่อธรรมะได้

    แต่ถ้าหากว่าไม่ใช่งานศพ ก็ควรที่จะมีความรื่นเริงในธรรมบ้าง โดยที่มีข้อจำง่าย ๆ ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง ซึ่งมาจากบาลีที่ว่าสันทัสสนา ก็คือแสดงอย่างแจ่มแจ้ง สมาทปนา จูงใจให้ผู้ฟังปฏิบัติตาม สมุตเตชนา ก็คือทำให้เกิดความแกล้วกล้า มอบกายถวายชีวิตในการปฏิบัติธรรม และ สัมปหังสนา ก็คือแฝงความรื่นเริงในธรรมเอาไว้ด้วย


    ครั้นเมื่อไปถึงตอนท้ายแล้ว ก็สรุปจบให้ตรงกับหัวข้อที่เราเทศน์ไว้ โดยมีหลักการที่ว่า ต้นตื่นเต้น กลางกลมกล่อม จบจับใจ ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ท่านก็จะเป็นนักเทศน์ที่ดีได้


    ถ้าหากว่าเป็นสถานที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีพระสวดรับเทศน์หรือว่าสวดมาติกาต่อไปเลย เขาจะจัดสถานที่อาสนะแรกเอาไว้ให้พระนักเทศน์เสมอ เราจะต้องลงไปนั่งยังสถานที่นั้นเพื่อรับปัจจัยไทยธรรมที่ญาติโยมถวายมา ไม่ว่าท่านจะพรรษาน้อยเท่าไรก็ตาม โดนบังคับว่าต้องนั่งหัวแถว ส่วนอีก ๔ ท่านหรือว่า ๑๐ ท่านที่นั่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ๑๐ ท่านที่สวดศราทพรต หรือว่า ๔ ท่านที่สวดมาติกาก็ตาม ต่อให้สมณศักดิ์และพรรษายิ่งใหญ่ขนาดไหน เราก็ต้องนั่งหัวแถว จนกว่างานนั้นจะจบลง
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    ดังนั้น..เรื่องพวกนี้ถ้าหากว่าท่านใดสนใจที่จะเข้าอบรมนักเทศน์ ก็ให้ดูข่าวคราว ไม่ว่าจะเป็นที่วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร ซึ่งในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นสำนักหลักในการแสดงพระธรรมเทศนา หรือว่าที่วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร ที่มีการจัดอบรมนักเทศน์อยู่เสมอ แล้วก็สมัครไป

    กระผม/อาตมาภาพเองนั้น จบการแสดงพระธรรมเทศนาด้วยการอบรมกัน ๑๕ วันที่สำนักวัดราชโอรสาราม วรวิหาร แล้วภายหลังก็ยังได้รับการขัดเกลาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, Ph.D.) ราชบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพปฏิภาณกวี (บุญมา อาคมปุญฺโญ ป.ธ. ๘) ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพวชิรวาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน) ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น..ก็ต้องถือว่าตนเองนั้นเป็น "ศิษย์มีครู"

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงเป็นต้นแบบนักเทศน์ที่กระผม/อาตมาภาพอาศัย "ครูพักลักจำ" มาก่อน แต่บังเอิญว่าจำเก่ง แล้วในขณะเดียวกัน ครูก็เป็นต้นแบบที่ดีมากและถูกต้อง จึงทำให้การไปอบรมนักเทศน์นั้นแทบไม่ต้องขัดเกลาอะไรเลย แต่ถ้าท่านที่จะเริ่มต้นใหม่ก็จะต้องเจอกับปัญหา อันดับแรกเลยก็คือบางท่านขึ้นธรรมาสน์ไปก็นั่งสั่นเสียแล้ว..!

    แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ขอให้ทุกท่านตั้งใจฝึกฝนเอาไว้ด้วย เพราะสำหรับวัดท่าขนุนของเราแล้ว ไม่ว่าท่านจะเป็นพระใหม่หรือว่าพระเก่า ถ้าถึงคิวแล้วก็ต้องขึ้นแสดงธรรมเพื่อเอาประสบการณ์ไว้เสมอ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงบอกว่า "นักเทศน์ที่ดีนั้นต้องขัดเกลาตนเองด้วยการเทศน์อย่างน้อยก็ ๑๐๐ ธรรมาสน์ขึ้นไป ถ้าใครยังเทศน์ไม่ถึง ๑๐๐ ธรรมาสน์ จะจัดเป็นนักเทศน์ชั้นดีไม่ได้"

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๘
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...