เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 มิถุนายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพต้องเดินทางออกจากวัดท่าขนุนแต่เช้า เพื่อไปร่วมประชุมติดตามโครงการแสดงพระธรรมเทศนา "เทศนาธรรม ๔ ภาคทั่วไทย" เฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา

    การแสดงพระธรรมเทศนางวดนี้เป็นส่วนของภาคกลาง ซึ่งมีการประชุมกันที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี เป็นประธานในงานประชุมครั้งนี้ ต้องบอกว่าลากยาวกันหลายชั่วโมงจนเพิ่งจะจบลงเมื่อครู่นี้เอง แทบจะไข้ขึ้นไปตาม ๆ กัน เนื่องเพราะว่าเป็นการประชุมรอบสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าไปหน้างานภายในวันที่ ๖ กรกฎาคม แล้วก็มีการแสดงพระธรรมเทศนาในวันที่ ๗ กรกฎาคมนี้

    ในเมื่อต้องการความชัดเจน ทุกฝ่ายจึงต้องแสดงตัวตนอย่างชัดเจนว่า ตนเองต้องรับผิดชอบในหน้าที่ส่วนใดบ้าง ทางด้านคณะสงฆ์ของเรานั้น ในส่วนของหนกลาง ก็คือคณะสงฆ์ภาค ๑, ภาค ๒, ภาค ๓, ภาค ๑๓, ภาค ๑๔ และภาค ๑๕ รับผิดชอบในการอาราธนาพระในเขตปกครองทั้งสิ้น ๑,๕๐๐ รูป เพื่อเข้าไปร่วมในพิธีครั้งนี้

    ในส่วนของพระที่ต้องเจริญพระพุทธมนต์ ๑๐ รูป ถวายเป็นภาระของเลขานุการคณะทำงาน ให้เรียนปรึกษาองค์ประธาน คือ พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, Ph.D.) ราชบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าจะนิมนต์ใครบ้าง แล้วโดยเฉพาะองค์ประธานยังต้องเป็นผู้แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์อีกด้วย

    ตอนแรกนั้น กระผม/อาตมภาพก็ตั้งใจว่าจะไปร่วมงานด้วย เนื่องเพราะว่าในจำนวนพระสงฆ์ ๑,๕๐๐ รูปนั้น ในที่ประชุมขออย่างต่ำเป็นรองเจ้าคณะอำเภอขึ้นไป ก็แปลว่าถ้ากระผม/อาตมภาพอยู่ในตำแหน่งอื่น ก็ยังต้อง "ติดร่างแห" ไปด้วย

    คำว่า "ติดร่างแห" นั้นเป็นภาษิตที่ใช้ผิดมาตลอด ความจริงคำนี้ก็คือ "ติดหลังแห" หมายความว่าเมื่อชาวประมงเหวี่ยงแหลงไปเมื่อทอดปลา ดันมีปลาเคราะห์ร้ายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้วงแหนั้น ว่ายมาชนหลังแหแล้วก็ติดขึ้นไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะติด ในเมื่อเป็นเช่นนั้น คำนี้ที่ถูกต้องจึงต้องใช้ว่า "ติดหลังแห" แต่พวกเราใช้คำว่า "ติดร่างแห" มาเสียจนผิดกลายเป็นถูกไปแล้ว
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    แต่เนื่องจากว่าตัวกระผม/อาตมภาพเอง เป็นคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพระธรรมเทศนาในเขตภาคไหนก็ตาม จึงต้องไปโดยหน้าที่ของตนเอง แต่ว่าวันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ นั้นมีกำหนดการเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ซึ่งถ้าหากว่ามีฎีกาหลวงมาในงานนี้ กระผม/อาตมภาพก็ต้องวางมือจากงานทั้งหมด เพื่อที่จะไปร่วมงานในการเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ด้วย

    ในเรื่องของพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น กระผม/อาตมภาพมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ยังเป็นพระใหม่ ก็คือเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษาในปี ๒๕๓๐ กระผม/อาตมภาพยังบวชเป็นพระใหม่ ๆ ที่วัดท่าซุง ได้แค่ ๒ พรรษาเท่านั้น แต่ปรากฏว่าได้เข้าร่วมพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่บริเวณหน้าโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา ก็คือตักจากกลางแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสมเด็จพระปฐมราชชนก ก็คือพระพินิจอักษร (ทองดี) ผู้เป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วทางการได้ถวายภาระให้หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงเป็นประธานในการเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ครั้งนั้น

    ครั้นวาระต่อมา ในการเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในโอกาสเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษาในปี ๒๕๕๐ กระผม/อาตมภาพก็ได้รับนิมนต์เข้าพิธีที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง) ในฐานะ ๑ ในพระเกจิอาจารย์ผู้เข้าปลุกเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์

    ครั้นเมื่อพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ในปี ๒๕๖๒ กระผม/อาตมภาพก็ต้องเข้าเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์อีกวาระหนึ่ง ที่พระอุโบสถวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง)

    พระเกจิอาจารย์ที่เข้าเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวาระนั้น ปัจจุบันนี้ก็ล่วงลับดับขันธ์ไปหลายรูปแล้ว ในเมื่อเป็นเช่นนั้น การที่มาเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ก็น่าจะไม่พ้นภาระของกระผม/อาตมภาพอีกตามเคย

    ดังนั้น..การแสดงพระธรรมเทศนา ๔ ภาคในครั้งสุดท้ายเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา กระผม/อาตมภาพก็คงจะไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย ไม่ว่าจะร่วมโดยตำแหน่งก็คือรองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ หรือว่าร่วมโดยตำแหน่งคือคณะกรรมการจัดงานก็ตาม
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เนื่องเพราะว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เราเองก็ยังต้องมาชั่งน้ำหนักความหนักเบา อย่างเช่นว่าการเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นคงให้ใครไปแทนไม่ได้ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าขาดกระผม/อาตมภาพไปก็จะมีปัญหา ต้องไปเสาะแสวงหาผู้อื่นแทน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเคยได้ร่วมงานกันมาก่อนหรือเปล่า

    ส่วนในเรื่องของการแสดงพระธรรมเทศนา ๔ ภาคเฉลิมพระเกียรตินั้น กระผม/อาตมภาพถือว่าเป็นคณะกรรมการที่ตัวเล็กจ้อยเท่านั้นเอง ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถึงขาดกระผม/อาตมภาพไป ถ้าไม่ใช่บุคคลที่คุ้นเคยหรือว่าตั้งใจมองหา ดีไม่ดีก็ไม่ทราบเสียด้วยซ้ำไปว่า กระผม/อาตมภาพไม่ได้ไปร่วมงานครั้งนี้ด้วย..!

    ดังนั้น..ในเรื่องของการแสดงพระธรรมเทศนา ๔ ภาคเขตหนกลาง หรือว่าเขตภาคกลางครั้งนี้ กระผม/อาตมภาพจึงรอดูอยู่ว่าเมื่อใดฎีกาหลวงจะมาถึง ถ้าหากว่าฎีกาหลวงมาถึงในระยะกระชั้นชิด ก็คงต้อง "เท" งานทางด้านศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วไปเข้าพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแทน

    เรื่องของการชั่งน้ำหนักของงานนั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ว่าบางคนจัดความสำคัญของงานไม่เท่ากัน อย่างเช่นกระผม/อาตมภาพ เมื่อทำหน้าที่อาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ หรือว่าวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ก็ตาม วันที่ตรงกับการสอน กระผม/อาตมภาพจะไม่รับงานอื่นเลย ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเป็นอาจารย์ที่เข้าสอนทุกชั่วโมง ยกเว้นว่าถ้ามีฎีกาหลวงเร่งด่วนมา ก็จะพยายามจัดสรรเวลาไปสอนให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะไปงานหลวงนั้น ๆ

    แต่ว่าท่านอื่น ๆ อาจจะจัดลำดับว่ากิจนิมต์นั้นเป็นของสำคัญกว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน ในเมื่อการให้น้ำหนักกับเรื่องราวต่างกัน ผิดกัน จึงอาจจะทำให้สิ่งที่กระผม/อาตมภาพตัดสินใจทำแบบนี้ไม่ได้ตรงกับกำลังใจของคนอื่นก็เป็นได้ แต่กระผม/อาตมภาพคิดว่านิสิต โดยเฉพาะฝ่ายบรรพชิตทุกรูปที่มาเรียน ต้องเดินทางไกลทั้งสิ้น ในเมื่อเขาเดินทางมาถึงแล้วปรากฏว่าอาจารย์ไม่อยู่ ก็ย่อมทำให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นเสียกำลังใจ

    สมัยที่กระผม/อาตมภาพยังเรียนอยู่ ไม่ว่าจะระดับประกาศนียบัตรก็ดี ปริญญาตรีก็ดี ปริญญาโทก็ดี ปริญญาเอกก็ดี ถ้าหากว่าท่านอาจารย์ติดภารกิจด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม กระผม/อาตมภาพจะโทรประสานงานท่านอาจารย์วิชาต่อไปทันที ว่าสามารถที่จะเข้าสอนแทนได้หรือไม่ ? ถ้าหากว่าท่านอาจารย์เข้าสอนแทนได้ พวกเราก็เชิญท่านมาแทนในชั่วโมงนั้น

    บางท่านบางทีก็ต้องเดินทางไกลมาก อย่างเช่นว่าวิ่งจากวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์เพื่อมาสอนที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) จังหวัดนครปฐม พวกกระผม/อาตมภาพก็ต้องเตรียมข้าวเตรียมน้ำเอาไว้ให้ท่านอาจารย์ มาถึงก็เชิญท่านอาจารย์รับประทานอาหาร หรือว่าดื่มน้ำให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยเข้าทำการเรียนการสอน
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    ถ้าหากว่าท่านอาจารย์ปลีกตัวไม่ได้จริง ๆ เพราะว่าติดการเรียนการสอนที่อื่น พวกกระผม/อาตมภาพที่ได้ A เป็นประจำอยู่ประมาณ ๕ รูป ที่เขาเรียกกันว่าพวก "๕ เสือ A" ก็คือกวาด A มาได้แทบทุกวิชา ก็จะทำหน้าที่ไปบรรยายถวายความรู้ให้กับเพื่อนพระภิกษุสงฆ์ของเราเอง ทั้ง ๆ ที่ก็อ่านตำราเล่มเดียวกัน เรียนวิชาเดียวกันมานั่นแหละ

    แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ว่าบางที ๕ ท่านนี้สรุปเรื่องราวออกมาได้ชัดเจนมาก ขณะที่เพื่อนบางท่านงมอ่านอยู่ตั้งนาน ยังจับใจความไม่ได้ว่าหลักสำคัญในบทนั้นคืออะไร ? ในเมื่อพวกเราทำเช่นนี้ บรรดานิสิตร่วมรุ่นก็ดี บรรดาครูบาอาจารย์ก็ตาม จึงได้จดจำและรักนิสิตรุ่นนี้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน โผล่หน้าไปท่านอาจารย์ก็ทักทายได้ถูกต้องทุกครั้ง

    เมื่อไม่กี่วันก่อนที่ไปงานทำบุญ ๑๐๓ ปีชาตกาล พระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี Ph.D.) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่าน รศ.ดร. ธัชชนันท์ อิศรเดช เข้ามากราบ แล้วก็ปรารภว่า "ผมเจอหลวงพ่อเล็กตั้งแต่ผมยังเป็นด็อกเตอร์หนุ่มน้อย สอนท่านมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เป็นรองศาสตราจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยแล้ว ผมยังไม่เห็นหลวงพ่อเล็กมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย"

    ในที่นี่ก็คือไม่ว่าจะเป็นท่านอาจารย์ที่เป็นพระหรือว่าเป็นฆราวาสก็ตาม กระผม/อาตมภาพถือว่าท่านเป็นผู้ให้ความรู้ จึงให้ความเคารพเกรงใจมาโดยตลอด ในจุดนี้จึงทำให้อาจารย์ทุกท่านมักจะชื่นชมเป็นพิเศษ โดยที่ปรารภว่าบางท่านเป็นพระ พอมียศใหญ่โตหน่อยก็เริ่มมองไม่เห็นอาจารย์เสียแล้ว ซึ่งเรื่องพวกนี้กระผม/อาตมภาพจะไม่คุยด้วย เพราะว่าจะทำให้ท่านอาจารย์จิตใจเศร้าหมองเสียเปล่า ๆ เป็นต้น

    เรื่องของการจัดความสำคัญให้กับงานจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกท่านจะต้องพินิจพิจารณาให้ดี ถ้าเราลำดับความสำคัญถูก หน้าที่การงานทุกอย่างก็จะไปได้สวย ถ้าเราลำดับความสำคัญไม่ถูก ก็อาจจะมีเสียงตำหนิ
    ติเตียนมารอบทิศทางก็เป็นได้

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุ สามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...