อานิสงส์การปฏิบัติภิกษุเจ็บป่วย ผู้ถาม : ทีนี้อย่างคนป่วยเป็นพระ แล้วเราก็ปฏิบัติดูแลท่าน อานิสงส์จะเหมือนกับปฏิบัติพระพุทธจ้าไหมครับ ? เพราะเคยได้อ่านในหนังสือพบมีตอนหนึ่งว่า "ผู้ใดปฏิบัติภิกษุไข้ก็คล้ายกับปฏิบัติเราผู้ตถาคต" หลวงพ่อ : ก็เหมือนกัน ปฏิบัติพระพุทธเจ้าก็อดนอน ปฏิบัติพระก็อดนอน แต่ความจริงอานิสงส์มันไม่เท่ากันหรอก เพราะว่าอานิสงส์ของพระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย มันไม่เท่ากันอยู่แล้วใช่ไหม ท่านบอกว่าคล้ายๆกับปฏิบัติเรา ก็เพราะว่าพระศาสนาจะทรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยพระสงฆ์ หากว่าทำให้พระสงฆ์อยู่ได้ก็เหมือนกับทำให้พระองค์อยู่ได้ ท่านเปรียบเทียบให้ฟังนะ ผู้ถาม : แล้วอย่างที่เขาบอกว่าพระอาพาธหรือพระป่วยฉันข้าวเย็นได้ ต้องป่วยขนาดไหนครับ ? หลวงพ่อ : ความจริงป่วยธรรมดา คือ ชิฆัจฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง มันหิวเมื่อไรกินเมื่อนั้น ของร้อนก็ได้ ของเย็นก็ได้ คุณถามข้าวเย็นนี่ คุณไม่ได้ถามเวลา ผู้ถาม : คือไปเจอที่โรงพยาบาล ตอนเย็นก็เอาเตาไฟฟ้ามานึ่งข้าวเหนียวแล้วก็หลนปลาร้ามาจิ้ม หลวงพ่อ : ความจริงถ้าพระองค์ไหนป่วย เราก็พยาบาลพระองค์นั้นนะ ถ้าอาหารที่พระป่วยฉัน เราก็ฉันกับพระป่วยได้ น่าจะปฏิบัติบ่อยๆนะ ผู้ถาม : เอ แล้วไม่เป็นอาบัติหรือครับ ? หลวงพ่อ : ดูเหมือนเคยพบในหนังสือที่ไหนนะ ท่านบอกว่า "อนุญาตเฉพาะน้ำข้าวต้มกับน้ำแกง เท่านั้นนะ ไม่ใช่เนื้อนะ" เขาเอาข้าวต้มมาต้มให้เละ แล้วเอามาคั้น แต่ว่าอาจจะมีเนื้อติดอยู่บ้าง แต่มันไม่เป็นก้อนแล้วนะ กับข้าวก็คือน้ำแกง พออ่านหนังสือฉบับนั้นก็มีความรู้สึกเลยว่า พระพุทธเจ้าท่านมีความรอบคอบจริงๆ ถ้าปล่อยให้ฉันข้าวเม็ดนี่ไม่รอบคอบ อย่างฉันไม่ได้หม่ำข้าวเย็นมาหลายสิบปี ถ้าฉันเข้าไปเพิ่มโทษอีก คือท้องอืด อ่านหนังสือแล้วก็ไปนั่งใคร่ครวญดูว่าอันไหนมันจะถูก คิดว่าอันนี้แหละถูก เพราะพระ ท่านไม่พบกับอาหารตอนเย็นมานานใช่ไหม ระบบการย่อยไม่ดี ถ้าเป็นน้ำนี่ไม่มีโทษ ไม่ต้องรอการย่อย ถ้าเป็นเนื้อนี่ไม่ไหวแน่ ฉันไปโดนเข้าที ฉันป่วยที่โรงพยาบาลไปเจอพระข้างๆห้องนั่งเข้าสมาธิอยู่ข้างตุ่มน้ำ ถามว่า "หลวงน้า เข้าสมาธิเรอะ ?" บอก "เปล่าครับ" "แล้วทำอะไรล่ะ?" "หมอเขาให้กินข้าวตอนเย็น ล่อเข้าไปพุงตื้อเลย" นอนไม่ลง ก้มไม่ได้ เป็นฌานข้าวสุกไป นี่เป็นโทษ เห็นไหม (จากธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ 203 เดือนกุมภาพันธ์ 2541 หน้า 95-96)