ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว มีคุณและมีโทษในอยู่ตัว คุณหรือโทษจะปรากฏตามการวางใจรับผลนั้น ผลของกรรมดีที่เกิดแก่ผู้ใดก็ตาม แม้ผู้นั้นวางใจรับไม่ถูก ไม่ประกอบด้วยปัญญา ผลดีก็จะไม่สมบูรณ์ ทั้งผลร้ายก็จะต้องตามมา การทำใจให้รับผลของกรรมดีอย่างถูกต้อง ผู้ได้รับผลของกรรมดีคือการได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั่นเอง ต้องรับให้ดี ต้องรับให้ถูก วิธีทำใจให้รับโลกธรรมอย่างถูกต้องที่สุดก็คือให้คิดว่า ลาภก็ตามยศก็ตาม สรรเสริญก็ตาม สุขก็ตาม ล้วนอยู่ในลักษณะของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยน แปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาความต้องการ ได้รับผลดีของกรรมดีคือ ได้รับโลกธรรมฝ่ายดีเมื่อไร เมื่อนั้นให้คอดถึงไตรลักษณ์ทันที จะได้รับผลดีของกรรมดีที่ดียิ่งกว่าผลดีทั้งนั้น การคิดถึงไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวน เปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาความต้องการ คือการทำความดีทางใจ เป็นมโนกรรมที่ดี จึงย่อมได้รับผลที่ดีตรงตามเหตุที่ได้กระทำ ที่จริงมโนกรรม กรรมทางใจคือคิดดีนั้น แม้ตั้งใจจริงที่จะทำก็น่าจะง่ายกว่า กรรมทางกาย ทางวาจา เพราะเรื่องของความคิดเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างแท้จริง ไม่เกี่ยวกับผู้ใดหรืออะไรเลย ความคิดอยู่กับเราจริง ๆ ไม่มีผู้ใดอาจล่วงล้ำก้ำเกินไปบังคับบัญชาได้ การทำใจให้รับผลของกรรมชั่วอย่างถูกต้อง ได้รับผลของกรรมชั่ว คือได้ประสบโลกธรรมฝ่ายไม่ดี ก็ควรทำใจรับให้ถูกต้อง เช่น เดียวกับการทำใจรับโลกะรรมฝ่ายดีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ใจตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์ ความเศร้าเสียใจ หรือความโกรธแค้น อาฆาต พยาบาท รับผลของกรรมไม่ดี ด้วยวิธีคิดเช่นเดียวกับเมื่อได้รับผลของกรรมดี คือคิดถึงไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาความต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น ทุกข์แล้วก็สุขเป็นธรรมดา : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=2797